Saturday, February 10, 2007

หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับสิทธิมนุษยชน

“หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับสิทธิมนุษยชน โปรดอภิปรายพร้อมยกเหตุผลในเชิงวิชาการและความรู้รอบตัวของนิสิตมาประกอบ

หลักนิติธรรม หรือ นิติรัฐ ได้มีผู้ให้คำอธิบายไว้หลายท่าน ดังจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังต่อไปนี้
หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายคำว่า นิติรัฐ (The Rule of Law) ว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมาย ซึ่งรัฐเป็นผู้ตราขึ้นเอง และในประการที่สำคัญในกฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐที่เป็นนิติรัฐจะต้องมีบทบัญญัติในประการที่สำคัญถึงเสรีภาพของราษฎร เช่น เสรีภาพในร่างกายในทรัพย์สิน ในการทำสัญญา และในการประกอบอาชีพ การที่รัฐจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรได้ก็ต้องด้วยความยินยอมของราษฎรให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพเองตามกลไกแห่งนิติบัญญัติของประเทศนั้น
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อธิบายว่า The Rule of Law หมายถึงหลักการแห่งกฎหมายที่เทอดทูนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และยอมรับนับถือสิทธิแห่งมนุษยชนทุกแง่ทุกมุม รัฐจักต้องให้ความอารักขาคุ้มครองให้พ้นจากลัทธิทรราชย์ หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน ศาลสถิตยุติธรรมย่อมมีอำนาจอิสระในการตัดสินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง
วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า หลักนิติรัฐ หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ไว้ว่าเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจขององค์กรฝ่ายบริหาร อันได้แก่ รัฐบาล หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล

หลักการสำคัญพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน
1. หลักความเป็นสากลที่มีมาโดยกำเนิด มนุษย์ทุกคนมีสิทธิอันแน่นอนบางประการ ซึ่งสามารถกำหนดความหมายหรือระบุลักษณะได้ อันเป็นสิทธิอันมิได้เกิดจากการประทานให้ของผู้ปกครองใดๆ หรือมิได้มาโยการซื้อขาย แต่เป็นสิ่งที่มีมาโดยกำเนิดในตัวเขาโดยอาศัยเพียงเหตุแห่งความเป็นมนุษย์ของเขาประการเดียว
2. หลักแห่งการไม่อาจถูกพรากโอนได้ ไม่มีมนุษย์คนใดที่อาจถูกพรากโอนสิทธิต่างๆ ดังกล่าวได้ ไม่ว่าโดยการกระทำของผู้ปกครองหรือแม้แต่การกระทำของตัวเขาเอง
3. หลักนิติธรรม (กล่าวไว้แล้วข้างต้น)
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้นเรื่องหลักนิติธรรมคงพอจะมองเห็นกันได้ว่าหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถือได้ว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐเสรีประชาธิปไตย การกระทำของรัฐทั้งหลายจึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับคุณค่าอันสูงสุดของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นรากฐานที่สำคัญที่รัฐจักต้องยอมรับรองและให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนโดยต้องบัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศอันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นสิ่งยืนยันถึงการเคารพและให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐยอมรับรองและให้ความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหะสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิเสรีภาพในครอบครัว
2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีหรือการใช้ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา
3. สิทธิเสรีภาพในอันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเจตนารมณ์ของรัฐที่สำคัญได้แก่ สิทธิเสรีภาพในอันที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นสมาคม หรือ เป็นพรรคการเมืองเพื่อดำเนินการทางการเมืองให้เป็นไปตามความคิดเห็นทางการเมืองของตน รวมตลอดถึงสิทธิเสรีภาพในอันที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และสมัครเข้ารับเลือกตั้ง
สรุป ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หลักนิติธรรม มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเพราะว่าหลักนิติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของหลักการสำคัญพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน

1 comment:

gk ! said...

แม้ของเขาดีจริงๆๆๆๆๆๆๆๆๆ